เทศบาลตำบลสระโบสถ์

แหล่งท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ วังแขม ตำบลสระโบสถ์

ความเป็นมา

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เกิดขึ้นจากราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลมหาโพธิ์ ตำบลสระโบสถ์และตำบลใกล้เคียง อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนน้ำทำนา เนื่องจากฝายที่สร้างไว้เดิมชำรุด และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถซ่อมแซมให้ดีได้ กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่เป็นฝายถาวร (ฝายวังแขม) โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2519 แล้วเสร็จปี 2520 ฝายวังแขมรับน้ำได้ดีในช่วงฤดูฝน แต่ในฤดูแล้งน้ำจะน้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการ นายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา เพื่อช่วยเหลือการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยนำโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม ตำบลมหาโพธิ์ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เข้าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งสำนักงาน กปร. ได้สรุปข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตที่สาธารณประโยชน์และกรมชลประทานมีแผนงานก่อสร้างในปีงบประมาณ 2540-2542 ไว้แล้ว หากโครงการฯ ดังกล่าวแล้วเสร็จจะทำให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ทั้งนี้ สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือที่ รล 0005/5102 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2541 ถึงสำนักงาน กปร. สรุปได้ว่า ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำริว่าเป็นโครงการที่น่าสนับสนุน โดยมีข้อพิจารณาว่า
1. ผู้ที่บุกรุกในเขตโครงการจะไม่ได้รับการชดเชย หรือเอกชนจะให้มีการชดเชยไม่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
2. ระบบต้องใช้ระบบของฝายก่อน
3. ในพื้นที่ทำประโยชน์จะต้องส่งเสริมระบบทฤษฎีใหม่
4. ในอนาคตต้องขยายพื้นที่รับประโยชน์

ผลการดำเนินงานในภาพรวม

อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม มีความจุของอ่างฯ ที่ระดับเก็บกัก 12.0 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในปี พ.ศ. 2548 ได้เริ่มส่งน้ำให้พื้นที่ของเกษตรกรผ่านทางคลองธรรมชาติ (ห้วยใหญ่) และปล่อยน้ำลงมาตามลำห้วยใหญ่มายังฝายวังแขมเพื่อให้ราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลสระโบสถ์ ตำบลมหาโพธิ และตำบลนิยมชัย ประมาณ 7,000 ไร่ ได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรกรรมโดยการใช้น้ำจากระบบของฝายก่อน และก่อสร้างระบบส่งน้ำเป็นคลองดาดคอนกรีตฝั่งซ้ายและฝั่งขวา จำนวนทั้งสิ้น 7 สาย รวมความยาว 27.100 กิโลเมตร แล้วเสร็จในปี 2553 สามารถขยายพื้นที่รับประโยชน์ได้มากขึ้น ประมาณ 23,730 ไร่ โดยใช้งบปกติของกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง